TAX (ภาษีอากร)

ซื้อรถหรูในนามบริษัท สด ผ่อน บอลลูน แบบไหนดีกว่ากัน ??



สำหรับปัญหานี้คงเป็นปัญหาคาใจใครหลายคน ว่าอยากซื้อรถหรู เพื่อใช้ในกิจการ ซื้อแบบไหนดี ซื้อเงินสดดีมั้ย หรือผ่อนดี หรือทำบอลลูนดี อย่างไหนดีกว่ากัน??

กรณีซื้อสด

ข้อดีคือ

 1.ได้รถในราคาเงินสด ตามป้ายราคา (หรือตามส่วนลดที่ต่อรองได้ในแต่ละศูนย์)

2.ไม่มีภาระดอกเบี้ย

3.ไม่มีภาระทางการเงินในอนาคต และวงเงินเครดิตไม่ลด

ข้อเสียคือ

1.ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่

2.ไม่ได้โปรโมชั่น!! หรือ ส่วน ของแถม 

กรณีซื้อผ่อน

ข้อดีคือ

1.ไม่ต้องเสียเงินก้อนใหญ่ในคราวเดียว

2.ได้รถมาใช้ก่อน เพียงแค่วางเงินดาวน์

3.อาจจะได้ส่วนลด หรือ ของของสมนาคุณ จากบริษัท (แล้วแต่ข้อเสนอขอแต่ละยี่ห้อ)

ข้อเสียคือ

1.เสียดอกเบี้ย หมายความว่าเราจะต้องซื้อรถในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ย

2.วงเงินเครดิตลดลง

3.ทำให้มีภาระหนี้สินเกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและในอนาคต

**กรณีซื้อรถเพื่อใช้ในกิจการ แบบเงินผ่อน 

แต่ก็ต้องพิจารณาว่า เงินก้อนที่มี สามารถนำไปทำมาหาได้ หรือสร้างผลตอบแทนได้ สูงกว่า อัตราดอกเบี้ย เงินผ่อนจากการซื้อรถหรือไม่

เช่น บริษัทสินเชื่อรถยนต์ เสนออัตราดอกเบี้ยเงินผ่อนชำระ 2.49% ต่อปี แต่ถ้าเราเอาเงินที่จะจ่ายซื้อรถด้วยเงินก้อนไปทำมาหาได้

ซื้อสินค้าและเอาไปขายได้กำไร 10%  นอกจากว่าเงินเหลือไม่ได้มีโครงการลงทุนใดๆ ฝากไว้ในธนาคารอัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 1% แบบนี้ ก็แนะนำเป็นซื้อเงินสดดีกว่า**

 

กรณีซื้อแบบบอลลูน  วิธีนี้เหมาะกับ การซื้อรถในนามนิติบุคคล  เพราะจะมีเรื่องของการหักค่าใช้จ่ายของกิจการเข้ามาเกี่ยว่ข้อง 

ข้อดีคือ

1.ไม่ต้องจ่ายเงินก้อน

2.สามารถหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้มากขึ้น กรณีที่รถมีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาท กล่าวคือเช่าซื้อแบบบอลลูน
จะทำเสมือนว่า
เป็นการเช่ารถมาใช้ก่อนในช่วงระยะเวลาตามสัญญา ซึ่งกิจการก็จะลงค่าเช่าเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามกฎหมาย
เมื่อถึงกำหนดตามสัญญา เราจะสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อรถขึ้นมาในราคาที่กำหนด หรือจะไม่ซื้อรถขึ้นมาก็ได้ ซึ่งถ้ากิจการซื้อรถมา
กิจการก็จะสามารถนำมูลค่ารถมาหัก ค่าใช้จ่ายต่อได้อีก
5 ปี ผ่านทางค่าเสื่อมราคาได้ปีละไม่เกิน 2 แสนบาท

3. การันตีมูลค่ารถ ณ ตอนหมดสัญญาเช่าซื้อแบบบอลลูน เพราะรถจะมีมูลค่าตามที่ระบุในสัญญา

ข้อเสียคือ

1.ดอกเบี้ยของการผ่อนแบบบอลลูนจะสูงกว่าการผ่อนแบบเช่าซื้อธรรมดา

2. ซื้อรถในราคาที่สูง

 

สรุป

ซื้อสด : ได้รถในราคาที่ถูก เพราะไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องจ่ายเงินก้อน

ซื้อผ่อนธรรมดา : ต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น เพราะดอกเบี้ย แต่ไม่ต้องจ่ายเงินก้อน

ซื้อผ่อนแบบบอลลูน : ซื้อรถในราคาที่สูงกว่าในภาพรวม แต่ได้ประโยชน์ทางภาษี คือสามารถลงค่าใช้จ่ายได้สูงขึ้น เพราะลงทั้งในช่วงที่เป็นค่าเช่า
หลังจากหมดสัญญา ก็สมารถนำมาลงเป็นค่าใช้จ่ายผ่านทางค่าเสื่อมราคาได้

ซื้อรถในนามบริษัท หรือ บุคคล แบบไหนดีกว่ากัน ??

 

กรณีซื้อรถในนามบริษัท

ข้อดีคือ

1.รถในนามบริษัท สามารถหัก ค่าเสื่อมราคาได้สูงสุดไม่เกินปีละ 2 แสนบาท

(รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ค่าเสื่อมราคาจะคิดจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท)

2  ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถ เช่น ค่าซ่อมแซม หรือ ค่า maintenance รถก็สามารถลงเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้

3. ค่าเบี้ยประกันภัยรถสามารถลงเป็นค่าใช้จ่ายได้

ข้อเสียคือ

1.รถมาใช้ในกิจการ ก็ไม่ควรจะนำมาใช้ในกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ

2.ภาษีซื้อไม่สามารถนำมาเคลมภาษีซื้อได้ แต่ลงเป็น ค่าใช้จ่ายของกิจการได้

3.เวลาขายมีกำไร ต้องลงเป็นรายได้ของกิจการ

4.เวลาขาย ถ้าเป็นกิจการจดทะเบียน VAT ต้องยื่นภาษีขายด้วย

 

กรณีซื้อรถในนามบริษัท

ข้อดีคือ

1.ค่าเบี้ยประกัน จะถูกกว่านามบริษัท

2.ค่าภาษีรถยนต์  จะถูกกว่านามบริษัท

3.สามารถนำรถไปใช้ได้ตามความต้องการ

4.เวลาขายไม่ต้องเสีย VAT ขาย

5.กำไรที่เกิดขึ้นไม่ต้องรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดา

ข้อเสียคือ

1. ไม่สามารถนำมูลค่ารถมาหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้

2. ค่าใช้จ่ายของรถไม่สามารถนำมาลงเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ทั้งหมดอาจจะลงได้บางอย่างแต่จะต้องมีเอกสารเพิ่มเติม

3.ค่าเบี้ยประกัน ค่าภาษีรถยนต์ ก็ไม่สามารถลงเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้คือ ค่าใช้จ่ายใดๆที่เกี่ยวข้องกับรถ ก็ไม่สามารถนำ

มาลงเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ ทำให้ภาษีของกิจการไม่ได้

 

 

 

 

3 วิธีการเอาเงินออกจากกิจการยังไงให้ถูกต้อง


เป็นคำถามยอกฮิตมากสำหรับผู้ประกอบว่าเมื่อเปิดบริษัทมาหลายๆปี เริ่มมีกำไรสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ 

ทำให้มีเงินสด หรือ เงินฝากธนาคาร อยู่ในกิจการเยอะ จะทำอย่างไรที่จะนำเงินออกมา

เรามี 3 วิธีมาแนะนำดังนี้

1.จ่ายเงินเดือนและโบนัสออกให้เจ้าของกิจการ

2.ถ้ากิจการมี เงินสด หรือ เงินฝากธนาคาร คงเหลือมากๆให้กรรมการกู้เงินจากกิจการได้ 

แต่!! การกู้ยืมนั้นต้องมีการคิดดอกเบี้ย ซึ่งการคิดอัตราดอกเบี้ยนั้น กรมสรรพากรได้แบ่งข้อกำหนดไว้ 2 ประเภทดังนี้

-กิจการที่ไม่เงินกู้          อัตราดอกเบี้ยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย เงินฝากประจำ

-กิจการที่มีการกู้ยืมเงิน   อัตราดอกเบี้ยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย เงินกู้ที่กิจการหาเงินเข้ามา   

และกิจการเมื่อได้รับดอกเบี้ยจากรรมการ กิจการจะต้องเสีย "ภาษีธุรกิจเฉพาะ"  ในอัตรา 3.3 %

3 ถ้ากิจการมีกำไรสะสม กิจการสามารถจ่าย "เงินปันผล" ซึ่งการจ่ายเงินปันผลกจการต้องเสียภาษีในอัตรา 10 %

ของเงินปันผลที่จ่ายให้เจ้าของกิจการ หรือ กรรมการ 

 

ซื้อโฆษณาFacebook Google แต่ลืมยื่น.ภ.พ 36 !! ก็ลดหย่อนภาษีไม่ได้



 

ในยุคที่ธุรกิจออนไลน์ การเข้าถึงผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป  แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงในโลกออนไลน์ เราจะทำยังไงให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าของเรา
มากกว่าสินค้าของคู่แข่ง การซื้อโฆษณาบน Facebook , Google จึงเป็นอีกวิธีที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ธุรกิจและโปรโมทสินค้าบนโลกออนไลน์ได้อย่างดี
แต่หลายคนมักมีคำถามว่าแล้วเงินที่ซื้อโฆษณานั้น มีภาษีอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง??

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับค่าโฆษณา Facebook , Google แบ่งออกเป็นภาษี  2  ประเภท คือ

1.ภาษีเงินได้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีบุคคลธรรมดา หากต้องการนำค่าโฆษณา Facebook มาเป็นค่าใช้จ่าย ต้องดูด้วยว่า
คุณเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบใด 
โดยมี 2 แบบด้วยกัน

   1.1  แบบเหมา : ค่าใช้จ่ายทุก ๆ อย่างจะถูกรวมในอัตราเหมา ค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้จะรวมอยู่ในนั้นหมดแล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถนำรายจ่ายค่าโฆษณามาหักภาษีได้อีก
   1.2 
 แบบตามจริง : ในกรณีนี้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ รวมถึงค่าโฆษณา Facebook , Google  แต่เช็คให้ชัวร์ก่อน ว่ามีหลักฐานในการจ่ายเงินและใบเสร็จที่ได้รับต้องระบุชัดเจนว่าจ่ายค่าอะไร มีค่าโฆษณาส่วนไหน แคมเปญใดบ้าง และจ่ายไปยอดเท่าไร

ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัท สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้หากเข้าเงื่อนไข โดยค่าโฆษณานั้นต้องเกี่ยวข้องกับกิจการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงซึ่งต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่ระบุรายละเอียดครบถ้วนในชื่อของบริษัท

 

2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT

ตามหลักแล้ว Facebook , Google  นั้นต้องมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย แต่เนื่องด้วยปัญหากฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการต่างประเทศกรณีนี้ทาง  Facebook , Google  จึงไม่ได้เรียกเก็บภาษีขายเราเพิ่ม

      ดังนั้นสรรพากรเลยกำหนดให้ผู้จ่ายค่าโฆษณาเป็นคนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนให้กับกรมสรรพากร และนำส่งภาษีด้วยแบบ ภ.พ.36 โดยคิดยอด 7% ของค่าโฆษณาที่จ่ายไปเช่น ถ้าโฆษณา 10,000 บาท จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม  700 บาทพอเราจ่ายแล้วยอดภาษีที่เราจ่ายก็จะเป็นภาษีซื้อของเราที่สามารถนำมาหักภาษีขายได้ โดยใช้ใบเสร็จภพ.36  เป็นหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อ  

 

ข้อควรระวัง : อย่าลืมยื่น ภพ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการจ่ายค่าโฆษณาให้  Facebook , Google

 

4 ข้อดี ของการ ใช้ E withholding tax


E-Withholding Tax  หมายถึง ระบบ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ เพียงแค่คุณมีการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร (E-Payment)
กระบวนการ E-Withholding Tax ก็จะเกิดขึ้น โดยคุณซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินที่จ่ายผ่านธนาคารมีหน้าที่หักภาษี และนำส่งต่อธนาคารทันทีที่มีการจ่ายเงิน
จากนั้นให้ธนาคารรับเงินและส่งเงินภาษี รวมทั้งส่งข้อมูลหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับกรมสรรพากร โดยผู้ประกอบการไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษี ณ ที่จ่าย  และไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี
 ณ ที่จ่าย (เอกสาร 50 ทวิ) อีกต่อไป นอกจากนี้ผู้ประกอบการหรือผู้เสียภาษี        
จะสามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองในเว็ปไซต์ของกรมสรรพากรได้ตลอด
24 ชั่วโมง       

 

4 ข้อดี ของการ ใช้ E withholding tax

1. ทุกครั้งที่จ่ายเงินผู้ประกอบการไม่ต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้รับเงิน

2. ทุกเดือนผู้ประกอบการไม่ต้องรวบรวมข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อยื่นแบบและนำส่งเงินภาษีต่อกรมสรรพากร

3. ทุกปีผู้ประกอบการไม่ต้องมานั่งเก็บเอกสารหนังสือรับรองการหัก ภาษี ณ ที่จ่าย (50ทวิ) ทุกฉบับเพื่อเป็นหลักฐานให้ครบอีกต่อไป เพราะกรมสรรพากร
มีข้อมูลการหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ครบถ้วนอยู่แล้วและสามารถตรวจสอบข้อมูลการ หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้ที่เว็ปไซต์ของกรมสรรพากร 
www.rd.go.th
ตลอด 24 ชั่วโมงทำให้การยื่นภาษีประจำปีง่ายขึ้นอีกด้วย

4. ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการยื่นแบบภาษี เพราะมีตัวกลางยื่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย แทนให้เราเสร็จเรียบร้อย

 

4 ข้อควรระวังในการจ่ายเงินเดือนและโบนัสให้กรรมการ


ข้อควรระวัง!!

1.การจ่ายเงินเดือนให้กรรมการควรจ่ายในอัตราที่เหมาะสม

2.การจ่ายโบนัสให้กรรมการ ห้าม!! จากกำไรของกิจการ

3.การจ่ายโบนัสให้กรรมการ ควรจ่ายจากความสามารถของกรรมการ หรือ การทำประโยชน์ให้กิจการ

4.การจ่านเงินเดือนและโบนัสให้กรรมการ ควรเป็นไปตามมติในที่ประชุม

ลงทุนเครื่องจักรในปี 2563 หักค่าใช้จ่ายได้ถึง 1.5 !!!

ทางสรรพากรได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ
การลงทุนในเครื่องจักร
ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า

เครื่องจักรต้องมีลักษณะเข้าเงื่อนไขดังนี้??

  1. เครื่องจักรต้องซื้อเครื่องจักรใหม่เท่านั้น และต้องซื้อมาระหว่างวันที่ 1 มกราคม 63 – 31 ธันวาคม 63 ซึ่งต้องได้มา และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานภายในวันที่ 31 ธันวาคม 63
  2. อยู่ในราชอาณาจักร
  3. ไม่เป็นเครื่องจักรที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ตามมาตรการอื่นๆ ของกรมสรรพากร
  4. ไม่เป็นเครื่องจักรที่ใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

 *แต่ไม่รวมถึง เครื่องจักรที่ซื้อมาเพื่อให้เช่า*

ขั้นตอนการทำเพื่อให้ได้รับสิทธิตามมาตรการ

  1. จัดทำโครงการลงทุนและแผนการลงทุน ตามแบบแจ้งโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงินผ่าน Web Site ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
 
  1. จัดทำรายงานแสดงรายละเอียดของเครื่องจักรที่ใช้สิทธิ โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร และต้องเก็บรักษารายงาน รวมทั้งเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานไว้ ณ สถานประกอบการ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมิน ตรวจสอบได้

 

จ่ายเงินสบทบประกันสังคมเกิน !!... เราสามารถขอคืนเงินได้ 

 

   สืบเนื่องจากปีที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยานายจ้างและลูกจ้าง โดยมีการลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
ทั้งในส่วนของนายจ้างและ
ลูกจ้างกันหลายรอบเลยทีเดียวนะคะดังตารางที่เราได้สรุปไว้ให้  ทำให้นายจ้างหลายราย ในบางเดือนที่มีการลดอัตรา แต่ได้มีการหัก
เงินสมทบในอัตราเดิม ร้อยละ 5  และได้นำส่งสำนักงานประกันสังคมแล้ว เกิดความกังวลใจว่า  เอ๊ะ… แล้วเงินสมทบที่จ่ายไปเกิน จะทำอย่างไรดี จะขอคืนได้ไหม??

 
กรณีที่นำส่งเงินสมทบเกินกว่าอัตราที่กำหนด กฎหมายกำหนดให้ นายจ้าง หรือ ผู้ประกันตน สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินส่วนเกินคืน โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้ 

 

  • กรอกเอกสารคำขอรับเงินคืน หรือ สปส 1-23/1
  • นายจ้างสามารถยื่นแบบขอรับเงินคืน สปส  1-23/1  ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่หรือทางไปรษณีย์ก็ได้
  • เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเอกสาร และบันทึกเข้าระบบคืนเงิน
  • เจ้าหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบข้อมูลประกอบการพิจารณาขอรับเงินคืน
  • เจ้าหน้าที่เสนอแบบคำขอรับเงินคืน เพื่อให้ผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติและรับเงินคืน หรือ ไม่เสนออนุมัติ พร้อมบันทึกผลการพิจารณาในระบบคืนเงิน

 

  อันนี้เป็นขั้นตอนคร่าวๆ สำหรับนายจ้างหรือผู้ประกันตนที่มีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
  ได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือ สายด่วน 1506

    *กระบวนการขอรับเงินคืนสมทบส่วนเกินจะต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำส่งเงิน นะคะ หากเลยกำหนด 1 ปี จะไม่สามารถขอคืนได้* 

อัตรากำไรขั้นต้น สำคัญแค่ไหน❓❓....ชี้เป็น ชี้ตาย บริษัท‼

   วันนี้เราจะมาไขความลับของตัวเลขในงบการเงินของกิจการ เราจะมาดูสัดส่วนทางการเงินที่หลายๆ คนน่าจะรู้จักกันดีก่อน นั่นก็คือ อัตรากำไรขั้นต้น
หรือ
Gross Profit Margin (GP)

ก่อนที่เราจะไปถึงคำว่า อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross ProfitMargin  เราก็ต้องรู้จักกับคำว่า กำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP) กันก่อน !!


กำไรขั้นต้น เกิดจากการเอยอดขาย หักด้วย ต้นทุนของสินค้าที่ขาย  เฉพาะต้นทุนเพียงอย่างเดียวนะคะ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร

ถ้าสินค้า หรือบริการของกิจการที่ทำนั้น เมื่อคำนวณ GP แล้ว เป็นยอดติดลบ หรือเป็นศูนย์  แปลว่า กิจการไม่มีกำไรขั้นต้น  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้
คำถามแรกเลยคือ เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะขายสินค้าทั่วไปหรือให้บริการ 
โดยที่ราคาขาย ต่ำกว่าต้นทุน

**อันนี้ต้องบอกก่อนว่า เป็นสินค้าทั่วๆไป นะคะ ไม่ใช่สินค้าที่ขึ้น-ลง ตามราคาตลาด เช่น ทองคำ น้ำมัน ยางพารา เป็นต้น

ซึ่งสินค้าเหล่านี้ บางครั้งเราอาจซื้อมาในวันที่ต้นทุนสูง แต่เราจำเป็นต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าทุน ในวันที่ราคาตลาดลดลงได้ **

 

กลับมาในกรณีที่ เราขายเป็นสินค้าปกติ แต่มี GP ติดลบ หรือมีแต่น้อยมากๆจน ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากต้นทุน เช่นเงินเดือนพนักงาน
ฝั่ง office ค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง แบบนี้นะคะ เราก็ต้องพิจารณาแล้วว่าเราจะผลิต หรือขายสินค้า หรือบริการนี้ต่อไปหรือไม่ เราสามารถปรับปรุงแก้ไขอะไรได้บ้าง
เช่น เพิ่มราคาขาย หรือสามารถลดต้นทุนได้หรือไม่ เช่น เราจะหา Supplier รายอื่น ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าเราลดลง

 และถ้าจะให้วิเคราะห์กิจการของเราให้ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าสามารถคำนวณ Gross ProfitMargin แยกเป็นรายกลุ่มสินค้า หรือกลุ่มประเภทรายได้
จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า สินค้าแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภทมีศักยภาพในการทำกำไรมากน้อยเพียงใด

                เช่น สินค้า A มีGP 5%   B มีGP30%  C มีGP40%

นอกจาก Gross ProfitMargin จะใช้ในการประเมินความสามารถในการทำกำไรของตัวสินค้าเองแล้ว

Gross ProfitMargin ยังสามารถช่วยให้เรามองได้ถึงปัญหาของสินค้าแต่ละกลุ่มได้อีกด้วย ว่าเกิดจากอะไร

วิธีการวิเคราะห์คือให้เราเอา Gross ProfitMargin ที่ได้ ของปีปัจจุบัน เปรียบเทียบกับ Gross ProfitMargin ของปีก่อน ถ้าGross ProfitMargin ลดลงจากปีก่อน
หรือมี trend ที่ลดลงต่อเนื่อง เราก็จะต้องเริ่มตรวจสอบแล้วว่า Gross ProfitMargin ลดลงเกิดจากอะไร 
อาจจะเกิดจากราคาขายลดลง เพราะคู่แข่งเข้ามาใน
ตลาดมากขึ้นขายของได้ยากขึ้น เราก็เลยลดราคาขาย
        หรือที่ Gross ProfitMargin ลดลง อาจจะเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น เราก็ต้องไปหาสาเหตุว่า ที่ต้นทุนสูงขึ้นเพราะอะไร เครื่องจักรซ่อมแซมบ่อย
เพราะเครื่องจักรเก่าแล้วหรือใช้พนักงานใน line การผลิตเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตได้เท่าเดิม ซึ่งกิจการก็ต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงาน เป็นต้น

        แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยอดขายและต้นทุนที่นำมาใช้ในการคำนวณ Gross ProfitMargin ต้องเชื่อถือได้ และค่า Gross ProfitMargin ที่เอามาเปรียบเทียบเพื่อใช้ใน
การวิเคราะห์ก็จะต้องอยู่บน standard เดียวกัน เพื่อที่จะเปรียบเทียบกันได้

  ดังนั้นการเก็บข้อมูล เพื่อทำรายงานสำหรับผู้บริหาร (management report) ต้องเป็นยอดที่เชื่อถือได้ เพื่อให้รายงานสำหรับผู้บริหาร (management report)
เป็นรายงานที่มีคุณภาพ และสามารถใช้วิเคราะห์ได้จริง แลใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กิจการสามารถแข่งขันได้ในตลาด ที่นับวันการแข่งขันยิ่งมีความรุนแรง
มากขึ้นและกิจการสามารถดำรงอยู่ได้ และเติบโตในที่สุด

 

ขั้นตอนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง...ในการขายทรัพย์สินเก่า !!!!

1.เมื่อเรามีทรัพย์สินเก่าที่ต้องการขาย เราต้องจัดทำรายละเอียดก่อนเป็นอันดับแรก

2.ตรวจสอบทรัพย์สินกับทะเบียนสินทรัพย์

3.เมื่อมีผู้ซื้อแล้ว ต้องขอหลักฐานแสดงตัวตนของผู้ซื้อ เช่น สำเนาบัตรประชาชน (กรณีเป็นบุคคล) หรือขอหนังสือรับรอง (กรณีเป็นบริษัท) หรือเอกสารเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ซื้อ

4.บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีขายให้กับผู้ซื้อ (กรณีเป็นบริษัทที่จดทะเบียน VAT)

5.นำเงินที่ขายได้เข้าบัญชีบริษัท

6.กรณีที่เป็นรถบริษัท หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องมีสัญญาซื้อขายรถด้วย

หมายเหตุ :  กรณีที่เป็นบริษัทที่จด VAT อย่าลืมยื่นภาษีขายกับกรมสรรพากรด้วยนะคะ

3 วิธีรับมือเมื่อเราได้รับจดหมายจากกรมสรรพากร



1.เตรียมใจ

   เมื่อได้รับหมายเรียก ก็ไม่ต้องตกใจ!! ให้ตั้งสติก่อน แล้วอ่านดูว่า ทางกรมสรรพากรต้องการอะไร

 

-      กรมสรรพากรต้องการตรวจสอบประเด็นอะไร หรือมีการระบุความผิดในเรื่องไหน

 

-      มีเอกสารอะไรที่ทางสรรพากรให้เราจัดเตรียมบ้าง

 

-      กำหนดเวลาที่จะต้องนำส่ง หรือวันที่นัดหมายให้เราเข้าไปพบบ้างหรือไม่

 

-      หรือบางครั้ง อาจเป็นแค่การจะเข้ามาตรวจแนะนำเพื่อให้ความรู้ เท่านั้น

2.เตรียมตัว

 

คือ การเตรียมตัวคนที่จะเข้าพบเจ้าหน้าที่ สำหรับคนที่จะเข้าพบเจ้าหน้าที่ ควรเป็นคนที่

 

-    มีความรู้ ความเข้าใจ ในกิจการของเรา (ว่ากิจการเราทำอะไร มีรายได้จากทางไหน เป็นต้น)

 

-    มีความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายภาษีอากร รวมถึง มีความรู้ทางด้านบัญชีที่อาจจะเกี่ยวข้องด้วยก็จะยิ่งดี

 

-    ที่สำคัญ!! ควรเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี และสามารถตอบประเด็นต่างๆ ได้

 

เจ้าของกิจการบางท่าน ก็มีความรู้ทางด้าน กม. ภาษีอากรอยู่บ้าง และมีความเข้าใจในธุรกิจที่เราทำอยู่อยู่แล้ว
ก็สามารถเข้าพบเจ้าหน้าที่เองได้เลย


3.เตรียมข้อมูล

การที่เราเตรียมข้อมูลในที่นี้ หมายถึง

 

-    การเตรียมทั้งข้อมูลที่เป็นเอกสารหลักฐาน

 

-    เตรียมข้อมูลในการตอบคำถาม

 

 

 

ชีวิตง่ายๆ หักภาษี ผ่าน e- Withholding tax



ขั้นตอนในการหักภาษี ผ่าน e- Withholding tax

(1)   ผู้จ่ายเงินควรเตรียมข้อมูล เพื่อแจ้งรายละเอียดผ่านธนาคาร  ได้แก่

  (1.1)   เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน

  (1.2)   ชื่อหรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับเงิน

  (1.3)   ระบุประเภทของเงินได้และจำนวนเงินที่จะจ่ายเงิน 

  (1.4)   จำนวนภาษีที่หัก

(2)   เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้ว จะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน และผู้รับเงิน (ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย)
(3)   ธนาคารจะจ่ายเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงินและนำส่งข้อมูลและภาษีที่หักไว้ต่อกรมสรรพากร ภายใน  4  วัน ทำการถัดจากวันที่ได้รับเงิน 
(4)   ธนาคารรนำส่งข้อมูลและภาษีต่อกรมสรรพากรแล้ว กรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน
(5)   กรณีนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไป ผู้จ่ายเงินสามารถนำส่งเพิ่มเติมผ่านระบบ E -Withholding Tax ได้อีกครั้ง

 

 

Q&A ยอดฮิต!! เรื่อง "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง"



คำถาม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องจ่ายที่กรมสรรพากรใช่ไหม ??

ตอบ   ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่ภาษีที่ต้องจ่ายที่กรมสรรพากร  ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีท้องถิ่นโดยสามารถชำระภาษีได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ

คือ  ถ้าอยู่ในกรุงเทพมาหนครจ่ายที่  สำนักงานเขต 

     ถ้าอยู่ในต่างจังหวัดจ่ายที่        องค์การบริหารส่วนตำบล(อ.บ.ต.)

 

คำถาม   การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คำนวณบนราคาขายของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ ??

ตอบ   ไม่ใช่ การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะคำนวณบนราคาประเมินของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยคนประเมินคือ "กรมธนารักษ" การประเมินนั้นจะประเมินทุกๆ 4 ปี

 

ซึ่งแยกวิธีคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายดังนี้  

 

กรณีมีที่ดิน  ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง  
ภาระภาษี                   :  มูลค่าที่ดิน(ราคาประเมิน)  x อัตราภาษี  
โดยมูลค่าที่ดิน             :   ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.)  x ขนาดพื้นที่ที่ดิน

 

กรณีมีทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  
ภาระภาษี                   :  (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี
โดยมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง     :  (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง)  หัก ค่าเสื่อมราคา

กรณีเป็นห้องชุด หรือ คอนโด  
ภาระภาษี                  :  มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี
โดยมูลค่าห้องชุด          : ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง    www.fpo.go.th 

 

คำถาม ถ้ามีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์หลายด้าน จะต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันหรือไม่ ?? 

ตอบ  ไม่ใช่ การเสียภาษีจะแบ่งตามประโยชน์การใช้งาน

 

คำถาม ถ้าเป็นเจ้าของบ้านหลายหลัง ซึ่งบ้านแต่ละหลังมีมูลค่าไม่เกิน 10-50ล้านบาท แบบนี้ไม่ต้องเสียภาษีทุกหลังใช่หรือไม่ ??

ตอบ  ไม่ใช่  การยกเว้นภาษีจะยกเว้นให้เฉพาะบ้านหลังหลักที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เท่านั้น (บ้านหลัก)            

สำหรับ  ที่อยู่อาศัย / บ้านหลังอื่นๆ  ที่เราไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ต้องเสียภาษีด้วย  

 

   * สรุปง่ายๆให้เข้าใจกันนะคะ *

  • มีบ้าน 1 หลัง มีชื่อในทะเบียนบ้าน เป็น เจ้าของบ้านและที่ดิน มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท : ไม่ต้องเสียภาษี
  • มีบ้าน 1 หลัง มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท : ไม่ต้องเสียภาษี
  • มีบ้าน 2 หลัง แต่ละหลังมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท : 

                       บ้านหลังหลัก    มีชื่อในทะเบียนบ้าน   :  ไม่ต้องเสียภาษี     

                       บ้านหลังที่  2                           :  ต้องเสียภาษี

  • มีบ้าน 3 หลัง โดย   บ้านหลังที่  1  มีชื่อในทะเบียนบ้าน  มูลค่า  5 ล้านบาท                  :  ไม่ต้องเสียภาษี                                                                               บ้านหลังที่  2  มูลค่า  3 ล้านบาท ,  หลังที่  3  มูลค่า  2 ล้านบาท     :  ต้องเสียภาษี

 

เอกสารบัญชีควรเก็บกี่ปี??



คำถามยอดฮิต ที่หลายๆ บริษัทมักจะสอบถามกันมา ว่าจะเก็บเอกสาสรไว้ 2 ปีก็กลัวจะน้อยไป จะเก็บสัก 10 ปีก็ต้องหาที่เก็บวุ่นวาย เกิดค่าใช้จ่าย แล้วต้องเก็บ
ไว้นานเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม  
โดยปกติในส่วนของกรมสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะต้องเก็บรักษาไว้ ไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่เราจะมาพูดถึงรายละเอียด
ที่สำคัญเพิ่มเติมดังนี้


การเก็บรักษาเอกสารของทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี "ต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี 
นับแต่วันปิดบัญชีหรือจนกว่าจะมีการส่งมอบบัญชี 
และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบอธิบดีมีอำนาจกำหนดให้เก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลง
บัญชีไว้เกิน 5 ปี  แต่ไม่เกิน 7 ปีได้" หมายความว่า ถ้ากรณีที่กิจการถูกตรวจสอบ อธิบดีมีอำนาจเรียกเอกสารย้อนหลัง ได้ถึง 7 ปี

 

การเก็บรักษาเอกสารภาษีมูลค่าเพิ่มขิองทางกรมสรรพากร  

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87/3 กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม “ต้องเก็บและรักษารายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษี
และสำเนาใบกำกับภาษีพร้อมทั้งเอกสารประกอบการรายงานหรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ” นับแต่วันที่ได้
ยื่นแบบภาษีหรือวันทำรายงาน แล้วแต่กรณี
และกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีจะกำหนดให้เก็บและรักษาไว้เกิน 5 ปี  แต่ไม่เกิน 7 ปีได้ คล้ายกับข้อแรก
 

    อย่างไรก็ตาม สรรพากรมีสิทธิตรวจสอบภาษีย้อนหลังและมีอำนาจออกหมายเรียก หรือประเมินภาษีได้  ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรและ
มาตรา  193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  รายละเอียดดังนี้ 

 

ตรวจสอบย้อนหลังได้  2 ปี  >>   กรณีมีการยื่นแบบภาษีทุกปี ไม่ว่าจะยื่นแบบถูกหรือผิดก็ตาม   

ตรวจสอบย้อนหลังได้   5 ปี  >>  กรณีเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า มีการหลีกเลี่ยงภาษี     

ตรวจสอบย้อนหลังได้  10 ปี  >>  กรณีที่ไม่เคยยื่นแบบภาษี

 

ประมวลรัษฎากรไม่ได้ระบุระยะเวลาการออกหมายเรียกไว้  จึงใช้กำหนดระยะเวลาตามอายุความ ทั่วไปจากเจ้าพนักงานที่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีได้
ภายใน 10 ปีนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการนั้น ๆ

   ทีนี้เราก็ได้ทราบกันแล้วนะค่ะว่าเราควรจะเก็บเอกสารทางบัญชี และภาษีกันกี่ปีดี อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกิจการ อาจจะต้องดูเรื่อง
ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเอกสารประกอบกันด้วยนะคะ

ค่าใช้จ่ายพนักงานหักได้ถึง.. 3 เท่า ‼

เนื่องจากจากสถานการณ์ Covid 19 ทางกรมสรรพากรได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหลายมาตรการ
หนึ่งในนั้นก็คือ มาตรการช่วยเหลือหักค่าใช้จ่ายพนักงานได้ 3 เท่า 

หลักเกณฑ์เงื่อนไขดังนี้!!

  1.   ต้องเป็นพนักงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม
  2.  จำนวนพนักงานเดือน 4,5,6,7 ปี 63 ต้องไม่น้อยกว่าจำนวนพนักงานณ สิ้นเดือน 3 ปี 63
  3.  พนักงานต้องมีเงินได้ไม่เกิน 15000 บาทต่อเดือน
     

เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้นแล้ว กิจการที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างที่จะนำมาใช้สิทธิตัวนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

 สำหรับ บริษัทไหนที่รอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก็จะต้องแจ้งข้อมูล ภายในวันที่ 30 พค. 2564





รู้ก่อนจ่าย!! ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง


"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง"  หลายคนคงสงสัยว่าแล้ว บ้าน หรือ ที่ดิน ของเราต้องเสียภาษีที่ดิน ได้ที่ไหน เมื่อไร ??

1.ยกเลิก การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ และ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน เริ่มใช้ปี 2563

2.
 ผู้เสียภาษีได้แก่  เจ้าของที่ดิน / เจ้าของสิ่งปลูกสร้าง  / เจ้าของห้องชุด /  ผู้ครอบครองทรัพย์สิน (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง)    

3.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะถูกเรียกเก็บภาษี แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ได้แก่

    * ที่ดินเกษตรกรรม  

    * ที่อยู่อาศัย

    * ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการพาณิชยกรรม  อุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร (นอกเหนือจากข้อ 1 และ 2)

    * ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์

4. การคิดภาษีที่ดินลิ่งปลูกสร้าง แต่ละประเภทจะใช้มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินจากกรมธนารักษ์  โดยกรมธนารักษ์จะเป็นผู้กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ราคาประเมินทุนทรัพย์
โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด และอัตราค่าเสื่อมราคา โดยจะมีการปรับตามรอบบัญชีประเมินราคาทุก  4 ปี

5.
   เสียภาษีเมื่อไร ??

  1.  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/สำนักงานเขต ออกหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน/บ้าน ให้ผู้เสียภาษีทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี

  2.  ผู้เสียภาษีต้องชำระภาษีภายในเดือนเมษายน ของทุกปี   (เฉพาะปี  2563  มีการขยายเวลาชำระภาษีไปจนถึงเดือน ตุลาคม 63)

  1.  หากมียอดภาษี 3,000 บาทขึ้นไป สามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด งวดละเท่า ๆ กัน คือ  ชำระในเดือนเมษายน, พฤษภาคม และมิถุนายน  
    (เฉพาะปี 2563  สามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด  คือ ชำระในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และ ธันวาคม)

6.  จ่ายภาษีที่ดินได้ที่ไหน ??
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะไม่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร แต่เป็นภาษีท้องถิ่น ดังนั้น ให้ตรวจสอบว่าพื้นที่ของเราขึ้นอยู่กับหน่วยงานใด โดยสามารถชำระภาษีได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ คือ  สำนักงานเทศบาล  องค์การบริหารส่วนตำบลสำนักงานเขต กรุงเทพมหานครศาลาว่าการเมืองพัทยา

7.หากไม่ไปเสียภาษีตามเวลากำหนด มีเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม คือ

เบี้ยปรับ

เบี้ยปรับ คือ ค่าปรับที่เกิดจากการชำระภาษีไม่ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด ดังนี้

 

  •  กรณีไม่ได้จ่ายภาษีในเวลาที่กำหนด และได้รับหนังสือแจ้งเตือน จะเสียเบี้ยปรับ 40%  ของจำนวนภาษีค้างชำระ
  •  กรณีไม่ได้จ่ายภาษีในเวลาที่กำหนด แต่ชำระภาษี ภายในกำหนดเวลา ของหนังสือแจ้งเตือน จะเสียเบี้ยปรับ 20%  ของจำนวนภาษีค้างชำระ

 

  •  กรณีไม่ได้จ่ายภาษีในเวลาที่กำหนด แต่ชำระภาษี ก่อน ที่จะได้รับหนังสือแจ้งเตือน จะเสียเบี้ยปรับ 10% ของจำนวนภาษีค้างชำระ

เงินเพิ่ม

เงินเพิ่ม คือ ดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระภาษีล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดโดยจะคิดในอัตรา 1% ต่อเดือน

ข้อยกเว้น

หากเป็นกรณีที่ชำระภาษีล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากไม่ได้รับใบประเมินเรียกเก็บภาษี หรือ เนื่องจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลา
ในการชำระภาษีออกไปเอง ผู้เสียภาษีไม่มีความผิด จึงไม่ต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม

 



ค่าเบี้ยประกันชีวิต ลง ค่าใช้จ่ายบริษัทได้

 

กรรมการหลายท่านคงเคยมีตัวแทนประกันชีวิตมานำเสนอขายกรมธรรม์กันอยู่แล้ว  แต่รู้หรือไม่ว่าค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาลงเป็นค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทได้
ถ้าทำอย่างถูกต้อง และถูกวิธี

 

สำหรับวิธีการที่จะทำให้ถูกต้องและถูกวิธี มีดังนี้

1.ต้องมีมติจากที่ประชุมของบริษัท ว่า สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้กับกรรมการ เป็นการทั่วไป โดยไม่เฉพาะเจาะจง

2.กรรมการจะต้องนำค่าเบี้ยประกันชีวิตไปรวมเป็นรายได้ เพื่อนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้จากกรมธรรม์ จะดำเนินการได้ดังนี้

1.ถ้าตามกรมธรรม์ระบุว่าค่าสินไหมทดแทนให้ถือเป็นประโยชน์จ่ายให้กับบริษัท ทางบริษัทจะต้องนำมาลงเป็นรายได้ เพื่อรวมเป็นคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

2.แต่ถ้ากรมธรรม์ระบุว่าค่าสินไหมทดแทนให้ถือเป็นประโยชน์จ่ายให้กับกรรมการ หรือทายาท ค่าสินไหมทดแทนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ค่าโฆษณา Google Facebook สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้



ปัจจุบัน ธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มมีการทำธุรกรรม online กันมากขึ้น และต้องยอมรับนะคะ เมื่อพูดถึงการทำโฆษณา สื่อที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก คงหนีไม่พ้น
สื่อสังคมออนไลน์  โดยส่วนใหญ่จะมีการจ่ายค่าโฆษณาให้กับ Facebook หรือGoogle กันเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากการโฆษณาด้วยวิธีนี้เป็นการโฆษณา
ที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากในราคาที่สามารถจับต้องได้ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า
 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่จ่ายค่าโฆษณา Facebook หรือ google  รู้หรือไม่??  ค่าโฆษณาเหล่านี้สามารถนำมาลงเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้

 

โดยต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้  

1.เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

2เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ เพื่อมุ่งหวังหาประโยชน์ในการเพิ่มยอดขาย เพิ่มกลุ่มลูกค้าในประเทศ เท่านั้นนะคะ ห้ามเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว

มีหลักฐานการจ่ายถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจะต้องมีการขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ และต้องระบุชื่อบริษัทด้วย ซึ่งวิธีการขอใบเสร็จสามารถทำได้ไม่ยาก 

 

ตัวอย่างเช่น Facebook สามารถดาวน์โหลดใบเสร็จได้ตามขั้นตอนนี้นะคะ

1. ไปที่ https://www.facebook.com/ads/manager/billing
2. เลือก ID ธุรกรรม ที่มุมบนซ้าย หากคุณมีหลาย ID (ซึ่งจะนำไปที่สรุปการเรียกเก็บเงิน)
3. คลิกเมนูดร็อปดาวน์วันที่ (เหนือธุรกรรม) และระบุช่วงวันที่ที่คุณต้องการดูใบแจ้งหนี้

 

ข้อควรระวัง !! ในการขายทรัพย์สินเก่า

 

1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล   

               เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินเกิดขึ้น กิจการจะต้องคำนวณหาราคาตามบัญชีของทรัพย์สิน ณ วันจำหน่าย  (Book Value)  เพื่อนำราคามาเปรียบเทียบกับราคาขายทรัพย์สินซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด ด้วยนะคะ

หากราคาขายทรัพย์สิน สูงกว่า  ราคาตามบัญชี  ผลต่างที่เกิดขึ้นถือเป็น “กำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน ”  ต้องนำไปเป็น รายได้ อื่น ในการคำนวณกำไรสุทธิ

เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

หากราคาขายทรัพย์สิน ต่ำกว่า  ราคาตามบัญชี ผลต่างที่เกิดขึ้นถือเป็น “ขาดทุนจากการจำหน่ายทรัพย์สิน” ต้องนำไปถือเป็น ค่าใช้จ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิ

เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

ข้อควรระวัง  

กรณีที่ทรัพย์สินชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทฯ จะนำมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น   มาตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้

เว้นแต่  “ทำลาย” หรือ “ขาย” ทรัพย์สินนั้น จึงมีสิทธิ์นำต้นทุนที่เหลืออยู่มาตัดเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้าม     ตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

 

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม  

ทรัพย์สินเก่า ถือว่าเป็น สินค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย 

     ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้มีการขายทรัพย์สินเก่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องนำมูลค่าที่ได้รับมาคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนการขายสินค้าที่ซื้อมาขายไป หรือผลิตขึ้นมาเพื่อขายด้วยเช่นกัน

 

8 ตัวอย่าง "เหตุอันสมควร" ที่ผู้ประกอบการควรรู้



1. การจัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ไว้ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว

 

2.กรณียื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ไว้ น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว เนื่องจากได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษี

3.บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรก ไม่มีรายได้ แต่ 6 เดือนหลังเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ

4.ขายทรัพย์สินใน 6 เดือนหลังของรอบบัญชี และมีกำไรจากการขายทรัพย์สิน

 

5.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลง ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่ำลง

 

6.การส่งออกสินค้ามีความไม่แน่นอน ทั้งปริมาณและราคา หรือมีการยกเลิกการควบคุมราคาหรือปริมาณสินค้าส่งออก หรือปริมาณและราคามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทำให้บริษัทไม่สามารถคาดการณ์ได้

 

7.การรับจ้างที่มีค่าจ้างไม่แน่นอน  ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างและความยากง่ายของงานที่ทำ

 

8.อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ เช่น มีสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
มีการผันผวน เป็นต้น

 

สิ่งที่ควรระวังในการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี ( ภ.ง.ด.51 )

 

สิ่งที่ต้องระวังในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี หรือ ภงด.51   แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นเราต้องทราบ" วิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี" กันก่อน
ซึ่งมีด้วยกัน 2 วิธี คือ

1. เสียภาษีจาก “กำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือนแรก”  ซึ่งเป็นการเสียภาษีจากผลประกอบการจริงของกิจการโดย กิจการที่ต้องใช้วิธีนี้ ในการคำนวณ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี ต้องเป็นกิจการจำพวกที่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, ธนาคาร, บริษัทเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์และเนื่องจากวิธีนี้
เป็นการเสียภาษีจากผลประกอบการจริง กิจการจึงต้องมีการบันทึกบัญชี ปิดงบการเงิน และให้ผู้สอบบัญชีสอบทานงบการเงิน

2.เสียภาษี กึ่งหนึ่งจากการ “ประมาณการกำไรสุทธิ  กิจการที่สามารถใช้วิธีนี้ จะเป็นกิจการ จำพวก บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ บริษัทมหาชน ซึ่งบริษัททั่วไป

ก็จะใช้วิธีนี้ค่ะวิธีการในการประมาณการ คือ เราจะต้องประมาณการว่า กำไรของทั้ง บริษัททั้งปีจากนั้นก็เอากำไรที่ประมาณการทั้งปี มาหาร 2 และคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

 


สิ่งที่ต้องระมัดระวัง ในการประมาณการกำไรสุทธิ และการคำนวณภาษีมีอยู่ 2 ข้อหลักๆดังนี้

1. กิจการจะต้องประมาณการกำไรสุทธิไม่ให้ขาดไป เกินกว่า 25% จากกำไรที่เกิดขึ้นจริงประจำปี โดยไม่มี  “เหตุอันสมควร”ผู้ประกอบการจะต้องเงินเพิ่มในอัตรา 20% ของภาษีที่ชำระขาดไปด้วย

2. กิจการที่มี ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ที่กิจการถูกหัก ในช่วงเวลาเดือนมกราคม - มิถุนายน สามารถนำมาหักออกจากภาษีเงินได้ที่ต้องเสียในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51  ได้

 

ยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี ( ภ.ง.ด.51 )

 

ภ.ง.ด.51 คือ การเสียภาษีเงินเงินได้นิติบุคคลกลางปี (6เดือน) ที่ชำระไว้ล่วงหน้าให้แก่กรมสรรพากร และสามารถนำมาหักออกจากภาษีปลายปีที่คำนวณได้
โดยภาษีที่ชำระครึ่งปี มีประโยชน์ตรงที่จะช่วยแบ่งเบาภาระการจ่ายภาษีตอนปลายปีเหมือนเป็นการจ่ายล่วงหน้าไว้ก่อน จะได้ไม่หนักตอนเสียภาษีปลายปี

ผู้ที่จะต้องมีหน้าที่ยื่น ภงด.51 คือ   

นิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากฐานกำไรสุทธิ และมีรอบระยะเวลาบัญชีครบ 12 เดือน ซึ่งบริษัทปกติก็จะมี
รอบระยะเวลาบัญชี มกราคม - ธันวาคม

ผู้ที่ไม่ต้องมีหน้าที่ยื่น ภงด.51  คือ

  1.  นิติบุคคลที่เริ่มดำเนินการเป็นปีแรก และรอบระยะเวลาบัญชีไม่ถึง 12 เดือน เช่น บริษัทที่เพิ่งเปิดใหม่ เป็นต้น
  2.  นิติบุคคลได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
     จนเป็นเหตุให้รอบระยะเวลาบัญชีแรกของปีไม่ถึง 6 เดือน
  3.  จดทะเบียนเลิกกิจการ ในช่วง 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

 

 




เจ็บปวดแน่... แค่ไม่ได้รับเอกสาร "ถูกหัก ณ ที่จ่าย"


เอกสารที่เกี่ยวข้อง ก็คือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ  ซึ่งเอกสารตัวนี้ เป็นเอกสารที่บอกว่า"เราถูกหักภาษี ..ไว้แล้ว" 
หรือ "เราได้จ่ายภาษีไว้ล่วงหน้าแล้ว"

ความสำคัญของ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ มี 3 ข้อดังนี้ 

1. บอกถึงรายได้ของเรา  ประเภทของรายได้  ชื่อคนที่หักภาษี  และยอดภาษี ที่เรา ถูก หักภาษี

2. ใช้เป็นเอกสารประกอบในการบัญทึกบัญชี

3 .เป็นเอกสารที่เอาไว้ "หักลดภาษี " ที่ต้องจ่ายประจำปี ให้กรมสรรพากร